การรดน้ำนั้นจะไม่สามารถชี้ชัดได้เป็นปริมาตรหรือระบุเป็นสูตรสำเร็จได้ เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ เช่น สุขภาพของราก คุณสมบัติการกักเก็บน้ำของวัสดุปลูก รวมถึงสภาพแวดล้อมในสถานที่ปลูก ล้วนแล้วแต่มีผลต่อปริมาณและรอบการรดน้ำทั้งสิ้น
การรดน้ำจึงต้องใช้ความสนใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต้นกล้าหรือต้นที่ยังไม่โตมากนัก เนื่องจากยังมีรากไม่มาก หากรดน้ำมากหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้ต้นป่วยได้ง่าย
ตามธรรมชาติแล้วกัญชาเป็นพืชที่ชอบน้ำ กินน้ำเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการออกซิเจนในบริเวณรากมากด้วยเช่นกัน การรดน้ำจึงมักเป็นลักษณะ “เปียกสลับแห้ง” คือหลังจากรดน้ำไปแล้ว จะมีการปล่อยให้แห้ง 1-2 วันก่อนที่จะรดน้ําครั้งต่อไป เพื่อให้รากได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งสามารถตรวจสอบง่ายๆ เช่น น้ำหนักกระถางที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจากวันที่รดน้ำ รวมถึงการใช้นิ้วจิ้มลงไป 1-2 นิ้วจากหน้าดินว่ายังมีความชุ่มชื้นหรือไม่ และไม่ควรปล่อยให้หน้าดินแห้งจนเป็นฝุ่นผง
หนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การรดน้ํามากหรือบ่อยเกินไป ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการ over watering และมักตามมาด้วยปัญหาการดูดซึมแคลเซียม, แมกนิเซียม รวมถึงธาตุหลักอย่างฟอสฟอรัส และในสภาพที่น้ำมากเกินไปจะทำให้ดินหรือวัสดุปลูกขาดออกซิเจน อาจส่งผลให้เชื้อราและแบคทีเรียฝ่ายที่ทำให้เกิดโรคเจริญเติบโตได้ดีจนทำให้เกิดปัญหาทางราก เช่น รากเน่า ได้อีกด้วย
บางครั้งอาการ over-watering อาจยังไม่แสดงอาการป่วยทันที แต่จะสะสมและไปแสดงอาการในช่วงทำดอกเนื่องจากรากแช่น้ำและขาดออกซิเจนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงควรหมั่นสังเกตุการตอบสนองและสุขภาพของพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ